วันพฤหัสบดีที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2551

พระราชบัญญัติการประมง2490


พระราชบัญญัติ

การประมง

พ.ศ. ๒๔๙๐
ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

รังสิต กรมขุนชัยนาทนเรนทร

พระยามานวราชเสวี

ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๐

เป็นปีที่ ๒ ในรัชกาลปัจจุบัน




โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการประมง

พระมหากษัตริย์โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา จึงมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐"


มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป


มาตรา ๓ ให้ยกเลิก

(๑) พระราชบัญญัติอากรค่าน้ำ รัตนโกสินทรศก ๑๒๐

(๒) พระราชบัญญัติเพิ่มเติมพระราชบัญญัติอากรค่าน้ำรัตนโกสินทรศก ๑๒๐

(๓) ประกาศแก้ไขพระราชบัญญัติอากรค่าน้ำ ร.ศ.๑๒๐

(๔) พระราชบัญญัติเพิ่มเติมพระราชบัญญัติอากรค่าน้ำ ศก ๑๒๐

(๕) พระราชบัญญัติอากรค่าน้ำแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๒

(๖) พระราชบัญญัติอากรค่าน้ำ รัตนโกสินทรศก ๑๒๐ แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๗

(๗) พระราชบัญญัติอากรค่าน้ำ (ฉบับที่ ๖) พุทธศักราช ๒๔๗๙

(๘) พระราชบัญญัติอากรค่าน้ำ (ฉบับที่ ๗) พุทธศักราช ๒๔๘๑

(๙) กฎกระทรวงว่าด้วยวิธีจัดการและตั้งอัตราเก็บเงินอากรค่าน้ำตามความในพระราชบัญญัติอากรค่าน้ำ ศก ๑๒๐ และบรรดากฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่น ๆ ในส่วนที่มีบทบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือซึ่งขัดแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้


มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้ (๑) "สัตว์น้ำ" หมายความว่า สัตว์ที่อาศัยอยู่ในน้ำหรือมีวงจรชีวิตส่วนหนึ่งอยู่ในน้ำหรืออาศัยอยู่ในบริเวณที่น้ำท่วมถึง เช่น ปลา กุ้ง ปู แมงดาทะเล หอย เต่า กระ ตะพาบน้ำ จระเข้ รวมทั้งไข่ของสัตว์น้ำนั้น สัตว์น้ำจำพวกเลี้ยงลูกด้วยนม ปลิงทะเล ฟองน้ำ หินปะการัง กัลปังหา และสาหร่ายทะเล ทั้งนี้ รวมทั้งซากหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของสัตว์น้ำเหล่านั้น และหมายความรวมถึงพันธุ์ไม้น้ำตามที่ได้มีพระราชกฤษฎีการะบุชื่อ

นิยาม "สัตว์น้ำ" แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๘)

(๑ ทวิ) "ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ" หมายความว่า ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นโดยใช้สัตว์น้ำตามที่ได้มีพระราชกฤษฎีการะบุชื่อเป็นวัตถุดิบ

((๑ ทวิ) เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๘)

(๒) "ทำการประมง" หมายความว่า จับ ดัก ล่อ ทำอันตราย ฆ่าหรือเก็บสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำด้วยเครื่องมือทำการประมงหรือด้วยวิธีใดๆ

(๓) "เครื่องมือทำการประมง" หมายความว่า เครื่องกลไก เครื่องใช้ เครื่องอุปกรณ์ ส่วนประกอบ อาวุธ เสา หลัก หรือเรือ บรรดา ที่ใช้ทำการประมง

(๔) "เรือ" หมายความว่า ยานพาหนะทางน้ำทุกชนิด

(๕) "ที่จับสัตว์น้ำ" หมายความว่า ที่ซึ่งมีน้ำขังหรือไหล เช่น ทะเล แม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง บ่อ เป็นต้น และหาดทั้งปวง บรรดาซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน รวมทั้งป่าไม้ และพื้นดินซึ่งน้ำท่วมในฤดูน้ำไม่ว่าจะเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือที่ดินอันบุคคลถือกรรมสิทธิ และภายในเขตน่านน้ำไทยหรือน่านน้ำอื่นใด ซึ่งประเทศไทยใช้อยู่หรือมีสิทธิที่จะใช้ต่อไปในการทำการประมง โดยที่น่านน้ำเหล่านั้น ปรากฏโดยทั่วไปว่ามีขอบเขตตามกฎหมายท้องถิ่น หรือธรรมเนียมประเพณี หรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือตามสนธิสัญญาหรือด้วยประการใด

(๖) "บ่อล่อสัตว์น้ำ" หมายความว่า ที่ล่อสัตว์น้ำเพื่อประโยชน์ในการทำการประมงตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

(๗) "บ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ" หมายความว่า ที่เลี้ยงสัตว์น้ำ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

(๘) "ประทานบัตร" หมายความว่า ใบอนุญาตซึ่งข้าหลวงประจำจังหวัดออกให้บุคคลผู้ประมูลได้ ให้มีสิทธิทำการประมงในที่ว่าประมูล

(๙) "ใบอนุญาต" หมายความว่า ใบอนุญาตซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ออกให้แก่บุคคลใดใช้ทำการประมง หรือทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่อนุญาต

(๑๐) "อาชญาบัตร" หมายความว่า ใบอนุญาตซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ออกให้แก่ผู้รับอนุญาตเพื่อใช้เครื่องมือทำการประมง

(๑๑) "ผู้รับอนุญาต" หมายความว่า บุคคลผู้ได้รับประทานบัตร ใบอนุญาต อาชญาบัตร หรือผู้ได้รับอนุญาตให้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดตามพระราชบัญญัตินี้

(๑๒) "เครื่องมือประจำที่" หมายความว่า เครื่องมือทำการประมงซึ่งใช้วิธีลงหลักปัก ผูก ขึง รั้ง ถ่วง หรือวิธีอื่นใด อันทำให้เครื่องมือนั้นอยู่กับที่ในเวลาทำการประมง

(๑๓) "เครื่องมือในพิกัด" หมายความว่า เครื่องมือทำการประมงซึ่งระบุชื่อ ลักษณะ หรือวิธีใช้ไว้ในกฎกระทรวง

(๑๔) "เครื่องมือนอกพิกัด" หมายความว่า เครื่องมือทำการประมงซึ่งไม่ได้ระบุไว้ในกฎกระทรวงว่าเป็นเครื่องมือในพิกัด

(๑๕) "สถิติการประมง" หมายความว่า สถิติหรือข้อความที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ การค้าสินค้าสัตว์น้ำ การทำการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

(๑๖) "พนักงานเจ้าหน้าที่" หมายความว่า ข้าหลวงประจำจังหวัดและนายอำเภอท้องที่ พนักงานประมง และผู้ซึ่งรัฐมนตรีได้แต่งตั้งให้มีหน้าที่ดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้

(๑๗) "อธิบดี" หมายความว่า อธิบดีกรมการประมง

(๑๘) "รัฐมนตรี" หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๕ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่และออกกฎกระทรวงกำหนดอัตราอากร และค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้และกำหนดกิจการอื่น ๆ เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้



หมวด ๑

ที่จับสัตว์น้ำ

มาตรา ๖ บรรดาที่จับสัตว์น้ำทั้งปวงให้กำหนดเป็น ๔ ประเภท คือ

(๑) ที่รักษาพืชพันธุ์

(๒) ที่ว่าประมูล

(๓) ที่อนุญาต

(๔) ที่สาธารณประโยชน์

มาตรา ๗ ให้คณะกรมการจังหวัดโดยอนุมัติของรัฐมนตรี มีอำนาจประกาศกำหนดประเภทที่จับสัตว์น้ำภายในเขตท้องที่ของตนว่า เข้าอยู่ในประเภทที่รักษาพืชพันธุ์ ที่ว่าประมูล หรือที่อนุญาต ที่จับสัตว์น้ำซึ่งมิได้มีประกาศตามความในวรรคหนึ่งให้ถือเป็นที่สาธารณประโยชน์

มาตรา ๘ ที่รักษาพืชพันธุ์ คือที่จับสัตว์น้ำซึ่งอยู่ในบริเวณพระอารามหรือปูชนียสถาน หรือติดกับเขตสถานที่ดังกล่าวแล้ว บริเวณประตูน้ำ ประตูระบายน้ำ ฝาย หรือทำนบ หรือที่ซึ่งเหมาะแก่การรักษาพืชพันธุ์สัตว์น้ำ

มาตรา ๙ ห้ามมิให้บุคคลใดทำการประมงหรือเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่รักษาพืชพันธุ์ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดี ผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดให้

มาตรา ๑๐ ที่ว่าประมูล คือที่จับสัตว์น้ำซึ่งสมควรจะให้บุคคลว่าประมูลผูกขาดทำการประมง และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การกำหนดที่จับสัตว์น้ำแห่งใดเป็นที่ว่าประมูลนั้น จะต้องไม่อยู่ในเขตชลประทานหลวง หรือไม่เป็นการเสียหายแก่การทำนา หรือการสัญจรทางน้ำ

มาตรา ๑๑ ห้ามมิให้บุคคลใดทำการประมงหรือเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่ว่าประมูล เว้นแต่ผู้รับอนุญาต ผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด การทำการประมงในที่ว่าประมูลเฉพาะเพื่อบริโภคภายในครอบครัวให้กระทำได้ แต่ต้องใช้เครื่องมือทำการประมงตามที่คณะกรมการจังหวัดประกาศกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี

มาตรา ๑๒ ที่อนุญาต คือที่จับสัตว์น้ำซึ่งอนุญาตให้บุคคลทำการประมงหรือเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และรวมตลอดถึงบ่อล่อสัตว์น้ำ

มาตรา ๑๓ ห้ามมิให้บุคคลใดทำการประมงหรือเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่อนุญาต เว้นแต่ผู้รับอนุญาตผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด

มาตรา ๑๔ ห้ามมิให้บุคคลใดขุดหรือสร้างบ่อล่อสัตว์น้ำในที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ส่วนในที่ดินอันบุคคลถือกรรมสิทธิ์ บุคคลย่อมขุดหรือสร้างบ่อล่อสัตว์น้ำได้แต่ต้องไม่เป็นการเสียหายแก่พันธุ์สัตว์น้ำในที่รักษาพืชพันธุ์

มาตรา ๑๕ ผู้รับอนุญาตมีหน้าที่ติดโคมไฟและเครื่องหมายเพื่อความปลอดภัยของการสัญจรในทางน้ำตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา ๑๖ ที่สาธารณประโยชน์ คือที่จับสัตว์น้ำซึ่งบุคคลทุกคนมีสิทธิทำการประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้ บุคคลใดซึ่งทำการประมงหรือเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่สาธารณประโยชน์ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา ๑๗ ห้ามมิให้บุคคลใดปลูกสร้างสิ่งใดลงไปในที่รักษาพืชพันธุ์ที่ว่าประมูล ที่อนุญาต ซึ่งมิใช่ที่ของเอกชนและที่สาธารณประโยชน์ หรือปลูกบัวข้าว ปอ พืชหรือพันธุ์ไม้น้ำอื่นใดตามที่จะได้มีพระราชกฤษฎีการะบุชื่อในที่เช่นว่านั้น เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนด (มาตรา ๑๗ แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๖)

มาตรา ๑๘ ห้ามมิให้บุคคลใดวิดน้ำในที่รักษาพืชพันธุ์ ที่ว่าประมูลที่อนุญาต ซึ่งมิใช่ที่ของเอกชน และที่สาธารณประโยชน์ หรือบ่อล่อสัตว์น้ำ หรือทำให้น้ำในที่จับสัตว์น้ำเช่นว่านั้นแห้งหรือลดน้อยลง เพื่อทำการประมง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้รับอนุญาตจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด (มาตรา ๑๘ แก้ไขโดยพระราชบัญญัติน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๖)

มาตรา ๑๙ ห้ามมิให้บุคคลใด เท ทิ้ง ระบาย หรือทำให้วัตถุมีพิษตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษาลงไปในที่จับสัตว์น้ำ หรือกระทำการใด ๆ อันทำให้สัตว์น้ำมึนเมา หรือเท ทิ้ง ระบาย หรือทำให้สิ่งใดลงไปในที่จับสัตว์น้ำในลักษณะที่เป็นอันตรายแก่สัตว์น้ำหรือทำให้ที่จับสัตว์น้ำเกิดมลพิษ เว้นแต่เป็นการทดลองเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ และได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ (มาตรา ๑๙ แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๒๘)

มาตรา ๒๐ ห้ามมิให้บุคคลใดใช้วัตถุระเบิดในที่จับสัตว์น้ำ เว้นไว้แต่ในกรณีที่ทำเพื่อประโยชน์ในทางวิทยาศาสตร์และได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี ผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนดให้ มาตรา ๒๐ ทวิ ห้ามมิให้บุคคลใดมีไว้ในครอบครองเพื่อการค้าซึ่งสัตว์น้ำ โดยรู้ว่าได้มาโดยการกระทำผิดตามมาตรา ๒๐ (มาตรา ๒๐ ทวิ เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๔๙๖)

มาตรา ๒๑ ห้ามมิให้บุคคลใดทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลงที่จับสัตว์น้ำซึ่งมิได้อยู่ในที่ดินอันบุคคลถือกรรมสิทธิ์ให้ผิดไปจากสภาพที่เป็นอยู่ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดให้

มาตรา ๒๒ ห้ามมิให้บุคคลใด ติดตั้ง วาง หรือสร้างเขื่อน ทำนบรั้ว เครื่องมือที่เป็นตาข่าย หรือเครื่องมือทำการประมงอื่น ๆ ในที่จับสัตว์น้ำซึ่งกางกั้นทางเดินของสัตว์น้ำ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่หรือกระทำการเช่นว่านั้นเพื่อประโยชน์แก่การกสิกรรมในที่ดินอันบุคคลถือกรรมสิทธิ์ ผู้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดให้ เช่นบันไดปลาโจน หรือเครื่องอุปกรณ์อื่น ๆ เพื่อให้สัตว์น้ำว่ายขึ้นลงได้